CRC Retailligence แผน 5 ปี ทุ่มแสนล.

CRC Retailligence แผน 5 ปี ทุ่มแสนล.

เซ็นทรัล รีเทล หรือซีอาร์ซี ชูยุทธศาสตร์ใหม่ “CRC Retailligence” ขับเคลื่อนธุรกิจท่ามกลางโควิดยังระบาด เปรียบตัวเองเป็นเสือติดปีกหากสถานการณ์โควิดดีขึ้น เปิดแผน 5 ปีทุ่มงบลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC กล่าวว่า “เซ็นทรัล รีเทล จะเป็นผู้นำอีกครั้งหนึ่งในการ Reshape Retail Industry ผ่าน CRC Retailligence และมี CRC Data Ecosystem มาเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนจริง นำเสนอสินค้าและบริการในรูปแบบ Hyper-Personalization บนฐานข้อมูลที่เจาะลึก Customer Insight ด้วยการมอบประสบการณ์ “Now Moment” ให้กับลูกค้าแบบเรียลไทม์ เข้าไปมีส่วนร่วมและสร้างแรงบันดาลใจให้กับลูกค้า พร้อมมอบประสบการณ์ที่เชื่อมต่อโลกทั้งสองใบ ผ่าน Next-Gen Omni Retail เราจะเป็นคนที่รู้จักและรู้ใจลูกค้าอย่างดีที่สุด เซ็นทรัล รีเทล จะสร้างโลกใหม่ของค้าปลีกแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน”

เขาย้ำด้วยว่า “ CRC Retailligence คือ การขับเคลื่อนของเซ็นทรัลรีเทลหรือซีอาร์ซี/CRCในการที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าว เพื่อนำองค์กรสู่ค้าปลีกแห่งอนาคต ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในภูมิภาคเอเชีย”

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ทั่วโลก รวมถึง ประเทศไทย และแม้แต่กลุ่มเซ็นทรัลหรือซีอาร์ซีเอง ก็ต้องตกอยู่ในภาวะชะงักงันและได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้จากสถานการณ์อันเลวร้ายของ โควิด-19 ที่ระบาดหนักมาอย่างต่อเนื่อง และยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไร ท่ามกลางการปรับตัวอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยทุกกระบวนท่าของธุรกิจทั้งหลายเพื่อความอยู่รอด
ซีอาร์ซี ก็เช่นกัน ยิ่งเป็นองค์กรใหญ่ ก็ต้องยิ่งปรับตัว ปรับกลยุทธ์ ปรับแผน ชนิดที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน

“ ช่วงปีแรก2563 ที่เริ่มมีการระบาดของ โควิด-19ใหม่ๆ ปีนั้นทุกคนยังตั้งตัวไม่ติดทำอะไรไม่ถูก เพราะเป็นเรื่องใหม่ เหมือนกับว่าเราเป็นเพียงฝ่ายที่ต้องตั้งรับเท่านั้น แต่พอเข้าปีที่2คือปี2564ทุกคนมีบทเรียนมีประสบการณ์แล้วว่าโควิดมันคืออะไร ต้องทำอย่างไร อีกทั้งมีการฉีดวัคซีนกันมากขึ้นแล้วเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งไม่ใช่ตั้งรับอย่างเดียว แต่ก็มีการรุกบ้างเช่่นกัน เพราะยังงัยพวกเราก็ต้องอยู่กับมันให้ได้” นายญนน์ กล่าวให้ความเห็น

ผลลัพธ์ที่เกิดในปี 2564 โดยรวมของซีอาร์ซีจึงทรงตัวอยู่ได้ ทั้งนี้รายได้ในไตรมาส 3 ปี 2564 ที่ผ่านมา ซีอาร์ซีมีรายได้ประมาณ136,889 ล้านบาท

“ในช่วงโควิดที่ผ่านมา เกือบสองปีกว่า เราได้รับผลกระทบอย่างมาก ไม่แพ้กับคนอื่น ธุรกิจเดินไม่ได้ เราก็เหมือนกับเสือที่ถูกล่ามโซ่พันธนาการเอาไว้ทำอะไรก็ไม่ได้ ทำให้เหมือนกับเป็นการเป็นการได้พักได้ปรับตัวเองเพิ่มความแข็งแกร่ง แต่เมื่อสถานการณ์ต่างๆเริ่มดีขึ้น ซีอาร์ซีก็เหมือนกับเสือที่ติดปีกให้กับตัวเองและพร้อมที่จะมุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างมีพลัง”
นี่คือ คำเปรียบเทียบของ ญนน์ ซีอีโอ ต่อสถานภาพของซีอาร์ซีในเวลานี้

 

ซีอาร์ซี จึงประกาศแผนงาน 5 ปีจากนี้ คือปี2565-2569 จะใช้งบประมาณมหาศาลมากถึง 1 แสนล้านบาท ลงทุนต่อเนื่อง ทั้งในไทยและต่างประเทศทั้งธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ๆ รวมทั้งการขยายในทุกโมเดล ทั้งการสร้างขึ้นมาเอง การร่วมทุนและการซื้อกิจการ โดยแบ่งเป็น งบประมาณลงทุน 70,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายสาขารูปแบบออฟไลน์และรีโนเวตสาขาเดิม ส่วนงบลงทุนอีก 30,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในด้านเทคโนโลยี ไอที ซอฟต์แวร์ รวมทั้งเรื่องฟินเทคต่างๆด้วย

โดยตั้งเป้าผลประกอบการในปี 2569 จะมีการเติบโตในทุกมิติ ด้านรายได้เติบโต 2.5 เท่า EBITDA เพิ่มขึ้น 3.5 เท่า และ Market Cap เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า จากปัจจุบัน โดยแบ่งสัดส่วนรายได้จากในไทย 70% และต่างประเทศคือ เวียดนาม 20% และอิตาลี 10%

ไม่ว่าโลกธุรกิจออนไลน์จะมีบทบาทมากขึ้นและเป็นไปตามกระแสพฤติกรรมของผู้็บริโภคก็ตาม แต่ช่องทางออฟไลน์ยังคงเป็นรายได้หลักอยู่

เซ็นทรัล รีเทล เป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย และเป็นบริษัทเรือธงด้านค้าปลีกซึ่งเป็นรากฐานของกลุ่มเซ็นทรัล มีเครือข่ายร้านค้าภายใต้แบรนด์ค้าปลีก 3,687 ร้านค้า (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2564) นำเสนอสินค้าหลากหลายประเภท (Multi-category) ผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย (Multi-format) อาทิ ห้างสรรพสินค้า, ร้านสะดวกซื้อ, ร้านขายสินค้าเฉพาะทาง, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ไฮเปอร์มาร์เก็ต, พลาซ่า และการจำหน่ายสินค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มออมนิแชนแนล

 

ธุรกิจของเซ็นทรัล รีเทล ครอบคลุมทั้งหมด 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่

1. กลุ่มแฟชั่น เน้นสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องประดับ ภายใต้ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน, ซูเปอร์สปอร์ต, เซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป (CMG) และรีนาเชนเต (Rinascente)

2. กลุ่มฮาร์ดไลน์ เน้นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าตกแต่งซ่อมแซมบ้าน ภายใต้ ไทวัสดุ, บ้านแอนด์บียอนด์, เพาเวอร์บาย, เหงียนคิม, ออฟฟิศเมท, บีทูเอส, และเมพ (e-book)

3.กลุ่มฟู้ด เน้นสินค้าของสดและของใช้บริโภคในครัวเรือน ภายใต้ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, ท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ เดลี่, แฟมิลี่มาร์ท, บิ๊กซี/โก! และลานชี มาร์ท

4. กลุ่มพร้อพเพอร์ตี้ เน้นให้เช่าพื้นที่ค้าปลีกแก่บุคคลภายนอกและร้านค้าในเครือฯ ภายใต้ โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์, ท็อปส์ พลาซ่า, และบิ๊กซี/โก!

 

โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 เซ็นทรัล รีเทล ดำเนินธุรกิจใน 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ทั้งหมด 56 จังหวัด, ประเทศเวียดนาม ทั้งหมด 39 จังหวัด, และประเทศอิตาลี ในเมืองหลักๆ ทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2564)

ทั้งนี้ ซีอาร์ซีได้วาง 4 ยุทธศาสตร์ในการรุกธุรกิจ ประกอบด้วย

1. Reinvent Next-Gen Omni Retail – ยกระดับแพลตฟอร์มออมนิแชนเนลผ่านการเชื่อมโลกจริงและโลกเสมือนจริง โดยใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลใหม่ๆ เพื่อมอบประสบการณ์การชอปปิ้งเหนือระดับในทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งฟูด แฟชั่น ฮาร์ดไลน์ พร็อพเพอร์ตี้ รวมถึงกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ครอบคลุมทั่วประเทศทั้งในไทย เวียดนาม และอิตาลี

2. Accelerate Core Leadership – เร่งการขับเคลื่อนและสร้างการเติบโตในกลุ่มธุรกิจหลักของ เซ็นทรัล รีเทล ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ระดับสากล

3. Build New Growth Pillars – เดินหน้าสร้างธุรกิจใหม่ โดยเริ่มจากกลุ่ม Wellness รวมถึงเซกเมนต์อื่นๆ ที่เป็นไปตามเทรนด์ของโลกและความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะตลาดสุขภาพหรือเวลเนส รวมทั้งตลาดสุขอนามัยหรือไฮยีน เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มในการเติบโตอย่างมากและต่อเนื่องด้วย สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพมากขึ้นุ โดยที่มีโควิดเป็นเสมือนตัวเร่งให้เกิดมากขึ้น ซึ่งธุรกิจเวลเนสจะกลายเป็นอีกขาธุรกิจใหญ่ของซีอารา์ซีในอนาคตด้วย

4. Drive Partnership, Acquisition and Spin Off ขยายธุรกิจภายใต้แนวคิด Inclusive Growth สร้างความสำเร็จร่วมกันกับพาร์ตเนอร์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ นายญนน์ แย้มว่า ธุรกิจ MEB จะมีการสปินออฟออกมาในปี้นี้แน่นอนเพื่อสร้างก่ารเติบโตอีกทางหนึ่ง

 

ขณะเดียวกัน ก็จะมีการนำธุรกิจแบรนด์หนึ่งของซีอาร์ซีเข้าสู่ช่องทางการขายที่เรียกง่ายๆว่า เมทาเวิร์สอีกด้วย

ประเด็นของแพลตฟอร์มของออมนิแชนแนลน้้น ต้องกล่าวได้ว่า หลังจากที่ซีอาร์ซีได้เข้าสู่ระบบออมนิแชนเนลมาได้ประมาณ 2 ปีพบว่ามีการเติบโตมากกว่า 500% และมีจำนวนลูกค้าที่เข้าสู่ระบบออมนิแชนเนลประมาณ 2-3 ล้านคนจากจำนวนลูกค้าที่มี 18 ล้านคน ตั้งเป้าหมายอีก 5 ปีจากนี้จะมีจำนวน 50% ของลูกค้าทั้งหมดที่มาใช้ระบบออมนิแชนเนล การซื้อสินค้าผ่านออมนิแชนเนลมีมากกว่า 2 เท่า มีการใช้จ่ายมากกว่าช่องทางเดียว 5 เท่า ส่งผลให้สัดส่วนรายได้ที่มาจากออมนิแชนเนลเมื่อสิ้นปีที่แล้ว (ปี 2564) มีประมาณ 20% ขณะที่ปี 2563 มีสัดส่วน 10% ส่วนปี 2562 มีสัดส่วน 3%

ออมนิแชนแนล เป็นหนึ่งในหลายๆอย่างที่ทำให้เห็นถึงเทรนด์ของธุรกิจโดยเฉพาะค้าปลีกในอนาคตที่่จะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างไร รวมถึงเทรนด์ของธุรกิจโดยรวมด้วย

นายญนน์ กล่าวว่า “โลกจากนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ใน 5 เทรนด์สำคัญ เราต้องเตรียมความพร้อมและปรับตัว เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยสรุป 5 เทรนด์ดังนี้

1. A New Consumer Paradigm : พฤติกรรมของผู้บริโภคจะพลิกไปสู่รูปแบบใหม่ ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนจริง ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบเดิมอย่างสิ้นเชิงและรวดเร็ว

2. Scaling in the Era of Digital Acceleration : โลกจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยมีเทคโนโลยีและดิจิทัลเป็นตัวเร่ง

3. The Future of Wellness : ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นในการดูแลสุขภาพ และการใช้ชีวิตให้ถูกสุขลักษณะ โดยจะมีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวเชื่อม ตอบโจทย์การดำเนินชีวิตได้ครบวงจร

4. Partnership for Inclusive Growth : การร่วมมือกันระหว่างพันธมิตรทางธุรกิจ จะมุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จและการเติบโตไปด้วยกัน

5. Sustainability Agenda for All : การมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสังคมและดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน เป็นเรื่องสำคัญของทุกคนและทุกภาคส่วน

 

ซีอาร์ซี เองก็เดินหน้าเคลื่อนทัพทุกอย่างเพื่อรองรับกับทั้ง 5 เทรนด์นี้มาอย่างต่อเนื่อง

“จากผลสำเร็จของกลยุทธ์ New Central New Retail ที่ทำให้เซ็นทรัล รีเทล ก้าวขึ้นเป็น #1 RegionalOmnichannel Retailer ที่ตั้งไว้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว และทำให้เกิดขึ้นได้จริงจนประสบความสำเร็จ ถือเป็นบทพิสูจน์ว่าดีเอ็นเอของ เซ็นทรัล รีเทล ในวันนี้ แข็งแกร่งและเปี่ยมด้วยศักยภาพ เราพร้อมที่จะก้าวสู่ CRC Retailligence ที่ยังคงยึดหลักความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล (ESG) เป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ มุ่งหวังสร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคม พร้อมกับสร้างสรรค์คุณค่าร่วมกันระหว่างธุรกิจของ เซ็นทรัล รีเทล และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งผู้บริโภค ภาครัฐ พันธมิตร คู่ค้า ตลอดจนพนักงานทุกคน สะท้อนผ่านทัศนคติและการดำเนินงานของทุกคนภายในองค์กรและขยายสู่ภายนอกเพื่อให้เกิดผลในวงกว้างอย่างต่อเนื่องและจากการติดอาวุธครบมือในครั้งนี้ ทำให้เรามั่นใจว่าจะสามารถสร้างการเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ในอีก 5 ปี ข้างหน้าได้อย่างแน่นอน” นายญนน์ กล่าวสรุป

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/business