“KCC” ขายหุ้นไอพีโอ 160 ล้านหุ้น หลัง ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง !!

“KCC” ขายหุ้นไอพีโอ 160 ล้านหุ้น หลัง ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง !!

บมจ.บริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอล “KCC” เตรียมเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ mai ระดมทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพขยายพอร์ตสินทรัพย์ ชูแกร่งกำไรขั้นต้นสูงเฉลี่ยกว่า 88%

บมจ.บริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอล “KCC” พร้อมขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 160 ล้านหุ้น หลัง ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง !! เตรียมเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ mai ระดมทุน เพื่อนำเงิน ขยายพอร์ตสินทรัพย์ เพิ่มศักยภาพในการเติบโต ชูจุดแกร่งกำไรขั้นต้นสูงเฉลี่ยกว่า 88% ผู้ถือหุ้นและทีมบริหารคร่ำหวอดในวงการบริหารหนี้มากกว่า 20 ปี

นายธวัชชัย วรวรรณธนะชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท บริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (“บริษัท หรือ KCC”) เปิดเผยว่า

 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ที่ KCC ได้ยื่นขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งแรกต่อประชาชน (IPO) แล้ว

บริษัทฯ จะเสนอขาย IPO จำนวน 160 ล้านหุ้น คิดเป็น 25.81% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายครั้งนี้มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิม 230 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 460 ล้านหุ้น หลังเพิ่มทุนเพื่อขายไอพีโอบริษัทจะมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 310 ล้านบาท หรือ 620 ล้านหุ้น

นายธวัชชัย กล่าวว่า ธุรกิจของ KCC มีโอกาสขยายตัวได้ดีตามภาพรวมของธุรกิจ AMC และหากดูผลดำเนินงาน พบว่ารายได้และกำไรเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี โดยผลประกอบการช่วงปี 2562-2564 บริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงาน 57.10 ล้านบาท 128.10 ล้านบาทและ125.75 ล้านบาท ตามลำดับและมีกำไรสุทธิเท่ากับ 12.03 ล้านบาท 49.06 ล้านบาท และ 52.42 ล้านบาท ตามลำดับ

 

ขณะที่ผู้ถือหุ้นและทีมผู้บริหารของบริษัท ทั้งนายสุชาติ บุญบรรเจิดศรีและนายทวี กุลเลิศประเสริฐ มีประสบการณ์ในธุรกิจบริหารหนี้และธุรกิจการเงินมากว่า 20 ปี โดยมีส่วนร่วมในการประมูลสินทรัพย์ของ ปรส.ในครั้งวิกฤตต้มยำกุ้งรวมถึงเป็นที่ปรึกษาในการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับบริษัทต่างๆ ที่ประสบปัญหาทางการเงินในแต่ละช่วงวิกฤตที่ผ่านมา

 

ด้วยประสบการณ์ของผู้บริหาร เป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนอยู่ในตัวเลขทางการเงินที่สำคัญปี 2564 ของบริษัท

เช่น อัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับ 88.95% อัตรากำไรสุทธิ ในระดับเท่ากับ 37.08% อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) เท่ากับ 12.06% หนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำเพียง 0.63 เท่า

 

และบริษัท มีนโยบายจ่ายเงินปันผลในอัตรา ไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิจากงบเฉพาะกิจการภายหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทฯ

 

สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทฯก่อนการเสนอขายหุ้นสามัญ ณ วันที่ 25 มีนาคม 2565 กลุ่มบุญบรรเจิดศรี ซึ่งประกอบด้วย

นายสุชาติ บุญบรรเจิดศรี กรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯ และนายโคบี้ บุญบรรเจิดศรี (บุตรชายของคุณสุชาติ) ถือหุ้นรวมกัน 321.99 ล้านหุ้น หรือ 70% ของทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว

 

นายทวี กุลเลิศประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทฯ และเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ถือหุ้น 138 ล้านหุ้น หรือ 30% ของทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว ภายหลังการเสนอขายหุ้นไอพีโอสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่จะลดลงเหลือ 51.94 % และ22.26 % ตามลำดับ

 

และประชาชนจำนวน 160 ล้านหุ้นหรือ 25.81% รวมหลังเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน (หลัง IPO) 620 ล้านหุ้น คิดเป็น 100 % (ทั้งนี้สัดส่วนดังกล่าวข้างต้นอาจมีเปลี่ยนแปลงเนื่องจากยังไม่รวมหุ้น IPO ที่จัดสรรให้กรรมการ ผู้บริหาร)

“KCC” ขายหุ้นไอพีโอ 160 ล้านหุ้น หลัง ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง !!

ด้าน นายทวี กุลเลิศประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ KCC ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย เปิดเผยถึงแนวโน้มธุรกิจบริหารจัดการหนี้ (AMC) ว่า มีโอกาสขยายตัว และเติบโตสูงในช่วง 2-3 ปี นับจากนี้

 

จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากวิกฤตโควิด-19 และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวนาน ซึ่งส่งผลให้สินเชื่อในระบบสถาบันการเงินด้อยคุณภาพลงและมีโอกาสเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มากขึ้น

 

หากดูตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่าสุดพบว่า NPLs ทั้งระบบมีกว่า 5 แสนล้านบาทและคาดว่าใน 1-2 ปีนี้ สถาบันการเงินต่างๆ จะนำ NPLs ออกมาประมูลขายเป็นจำนวนมาก จึงถือเป็นโอกาสเติบโตของธุรกิจบริหารหนี้

 

“KCC ประกอบธุรกิจเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.โดยบริษัทรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ลูกหนี้ NPLs) จากสถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน เพื่อนำมาบริหารจัดการปรับโครงสร้างหนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายในการแก้ไขปัญหาหนี้เสียร่วมกับลูกหนี้เพื่อให้ลูกหนี้สามารถที่จะชำระหนี้ที่ค้างชำระและสามารถดำเนินกิจการของตนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPA) เพื่อนำมาปรับปรุงและจำหน่ายต่อไปบริษัทขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน และให้โอกาสแก่ลูกหนี้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป ซึ่งถือเป็นพันธกิจหลักของบริษัท ดังนั้นจึงได้ตัดสินใจเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ หรือ mai เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต”

 

นายทวี กล่าวเพิ่มเติมว่า เงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้จะนำไปใช้ในการจัดหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขาย นำไปชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน และ/หรือชำระหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดที่ออก โดยบริษัทฯ และ/หรือภาระหนี้สินอื่นใดของบริษัทฯ รวมถึงเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทและเพิ่มศักยภาพการเติบโตในอนาคต

 

ปัจจุบัน (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564) บริษัทฯ มีพอร์ตหนี้ NPLs ที่ 565.57 ล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจร้อยละ 60.22 และลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยร้อยละ 39.78 ของเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับสุทธิ

อ้างอิง
https://www.thansettakij.com/money_market