รัสเซีย-ยูเครนเจรจาสันติภาพไม่คืบหน้า เงินเฟ้อหนุนดอลลาร์แข็งค่า

รัสเซีย-ยูเครนเจรจาสันติภาพไม่คืบหน้า เงินเฟ้อหนุนดอลลาร์แข็งค่า

รัสเซีย-ยูเครนเจรจาสันติภาพไม่คืบหน้า เงินเฟ้อหนุนดอลลาร์แข็งค่า ขณะที่เงินบาทแข็งค่าเล็กน้อยหลังได้ปัจจัยบวกจากตัวเลขส่งออกและการเกินดุลการค้า ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 33.61/63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

วันที่ 24 มีนาคม 2565 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/3) ที่ระดับ 33.63/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (23/3) ที่ระดับ 33.60/63 บาท

ดอลลาร์สหรัฐยังเคลื่อนไหวแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ขานรับที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

โดยนายพาวเวลล์ได้กล่าวในการประชุมสมาคมเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐเมื่อวันจันทร์ว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐมีความแข็งแกร่งมาก และอัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับสูงมากเกินไป ด้วยเหตุนี้เฟดจึงต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง และหากเห็นว่าจำเป็น เฟดก็จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในการประชุมครั้งหนึ่งหรือหลายครั้ง

นอกจากนี้ดอลลาร์ยังได้แรงซื้อในฐานะสกุลเงินปลอดภัย หลังจากเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงไม่มีความคืบหน้า

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ลดลง 2% สู่ระดับ 772,000 ยูนิตในเดือน ก.พ. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 810,000 ยูนิต โดยยอดขายบ้านใหม่ได้รับผลกระทบจากราคาบ้านที่พุ่งขึ้น และการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า การส่งออกเดือน ก.พ. 65 มีมูลค่า 23,483.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 16.2% จากที่ตลาดคาดขยายตัว 10-11% ขณะที่มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 23,359.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 16.8% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 123.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีการขาดดุลการค้า ด้วยเหตุนี้ทำให้เป็นปัจจัยหนุนเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.58-33.72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.61/63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (24/3) ที่ระดับ 1.1002/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (23/3) ที่ระดับ 1.1015/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ยูโรอ่อนค่าจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0972-1.1014 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0986/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/3) ที่ระดับ 121.14/16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (23/3) ที่ระดับ 120.92/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนได้เข้าซื้อเงินดอลลาร์เพราะคาดการณ์กันว่า อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐกับญี่ปุ่นจะทิ้งช่วงห่างมากขึ้น ขานรับนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือน ม.ค.ในวันนี้ระบุว่า กรรมการ BOJ มีความเห็นตรงกันว่า อัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาผู้บริโภคนั้น อาจจะพุ่งขึ้นแตะระดับสูงกว่าที่ BOJ คาดการณ์ไว้ หากบริษัทเอกชนผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปให้กับผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ด้านนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า เขาไม่คิดว่า BOJ มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในปัจจุบันหรือหารือเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเชื่อว่า การพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 120.96-121.75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 121.51/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐเดือน ก.พ. (24/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.15/0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0.3/+1.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance