รัฐอัดฉีดงบ 8 หมื่นล้านช่วยคนเดือดร้อน “อาคม” ลั่นรัฐบาลมีเสถียรภาพการคลังดี-ก่อหนี้สาธารณะไม่สูงเกินกว่าเพดาน

รัฐอัดฉีดงบ 8 หมื่นล้านช่วยคนเดือดร้อน “อาคม” ลั่นรัฐบาลมีเสถียรภาพการคลังดี-ก่อหนี้สาธารณะไม่สูงเกินกว่าเพดาน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เผยถึงมาตรการลดค่าครองชีพ ช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ขัดแย้งยูเครน – รัสเซีย ว่า มาตรการที่รัฐบาลออกมาครั้งนี้ จะช่วยดูแลผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น 3 เดือนจากนี้ ครอบคลุมประชาชนหลายกลุ่มที่จะได้รับการบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงนี้ไปได้

ทั้งนี้ยอมรับว่า ปัจจุบันสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีความน่าเป็นห่วง จากเดิมที่คาดว่าสถานการณ์พลังงานที่ดูสูงขึ้นเกิดจากการฟื้นตัวจากเศรษฐกิจทางเศรษฐกิจของโลก มีความต้องการพลังงานและสินค้าบางประเภทสูงเร็วว่าการผลิตที่จะตามมา หลังจากการผลิตได้ลดลงไปในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกทั้งสถานการณ์วิกฤตยูเครน-รัสเซีย ซึ่งไม่จบเร็ว และน่าจะยืดเยื้อต่อไป ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลได้ติดตามอย่างใกล้ชิด และจำเป็นต้องออกมาตรการลดค่าครองชีพ โดยเชื่อว่าในช่วง 3 เดือนจากนี้น่าจะเห็นอะไรชัดขึ้น

สำหรับมาตรการลดค่าครองชีพ อัพเดทล่าสุด วันที่ 24 มี.ค.2565 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มีด้วยกันดังต่อไปนี้
• ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย จำนวน 20 ล้านหลังคาเรือน ได้รับส่วนลดค่า FT ลง 22 สตางค์ เป็นเวลา 4 เดือน (พ.ค.-ส.ค.2565)
• นายจ้างและผู้ประกันตนในมาตรา 33 ได้รับการลดเงินนำส่งจาก 5% เหลือ 1% งวดค่าจ้าง พ.ค. – ก.ค. ครอบคลุมนายจ้าง 4.9 ล้านคน และผู้ประกันตน 11.2 ล้านคน
• ผู้ประกันตนในมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน ลดเงินนำส่งจาก 9% เหลือ 1.9% งวดค่าจ้าง เดือนพ.ค. – ก.ค. 2565หรือจ่ายเงินสมทบลดลงจาก 432 บาทต่อเดือน เหลือ 91 บาทต่อเดือน
• ผู้ประกันตนในมาตรา 40 จำนวน 10.7 ล้านคน ลดเงินนำส่งเหลือ 42 – 180 บาทต่อเดือน
• ผู้ใช้ก๊าซหุงต้มที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน ได้รับการเพิ่มวงเงินช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้มเป็น 100 บาท/ 3 เดือน เป็นเวลา 3 เดือน
• ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 5,500 คน ได้รับส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
• ผู้ใช้ก๊าซ NGV ทั่วไป 3.18 แสนคน โดยตรึงราคาขายปลีก NGV ที่ 15.59 บาท/กก. เป็นเวลา 3 เดือน
• ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 1.57 แสนคน ได้รับส่วนลดค่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 5 บาท/ลิตร จำนวน 50 ลิตร หรือ 250 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน
• ผู้ขับรถแท็กซี่ที่อยู่ในโครงการลมหายใจเดียวกัน ได้ซื้อก๊าซในราคา 13.62 บาท/กก. ในวงเงิน 10,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน

สำหรับการช่วยเหลือผ่านมาตรการลดค่าครองชีพดังกล่าว ครอบคลุมกลุ่มที่ได้ประโยชน์ทั้งหมด 4 กลุ่ม ดังนี้
• กลุ่มครัวเรือนทั่วไป
• กลุ่มนายจ้างและผู้ประกันตน
• กลุ่มผู้มีรายได้น้อย
• กลุ่มขนส่งและโดยสารสาธารณะ

สำหรับวงเงินและแหล่งเงินที่ใช้ในการดำเนินมาตรการทั้งหมด 80,247 ล้านบาท แยกเป็นดังนี้
• เงินกู้จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 39,520 ล้านบาท สัดส่วน 49%
• เงินสมทบกองทุนประกันสังคม 35,224 ล้านบาท สัดส่วน 44%
• งบกลาง สำนักงบประมาณ 3,740 ล้านบาท 5%
• เงินจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 1,763 ล้านบาท สัดส่วน 2%

โดยยอมรับว่า นอกจากความรุนแรงของผลกระทบโควิด-19 ที่มีมากว่า 2 ปี แล้ว วิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงเพราะประชาชนไทยได้รับผลกระทบต่อไปด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้ออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันวิกฤตโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ในเวลาเดียวกันสัญญาณราคาพลังงานโลกปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นประกอบกับการลดกำลังการผลิตจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก รวมถึงโอเปคที่ไม่เพิ่มกำลังการผลิต จนเข้าสู่วิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ถือเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต แต่รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจออกทั้งด้านการเงินการคลังช่วยเหลือประชาชน ผ่านการดูแลของ 3 หน่วยงานที่ดูแลเศรษฐกิจมหภาค ทั้งธนาคารแห่งประเทศ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของไทยจำเป็นต้องสร้างความมั่นคงทางการเงินคลัง ทั้งนี้หลังเกิดความต้องการพลังงานและสินค้าบางประเภทสูงเกินกว่าที่จะผลิตได้ทัน ส่งผลต่อราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกีดกันทางการค้า จึงเป็นเหตุอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น พร้อมยืนยันเสถียรภาพการเงินการคลังของไทยไม่สูงเกินกว่าเพดานหนี้สาธารณะแม้จะปรับเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า สิ่งที่สามารถพยุงรายได้ของประชาชนในประเทศ คือภาคเกษตรและการค้าขายชายแดน ซึ่งขณะนี่เองการค้าขายชายแดนยังไม่มีปัญหา โดยคาดการณ์ว่าในปี2565 รายได้จะมาจากการส่งออก และแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐอย่างการใช้จ่ายงบประมาณปี2565 กับการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของรัฐวิสหกิจไม่ได้หยุดชะงัก แต่ยอมรับว่าจีดีพีของประเทศนั้นมาจากปริมาณและราคา ซึ่งหากดูในเรื่องปริมาณนั้นไม่มีปัญหาแต่ราคาอาจมีการปรับตัวสูงขึ้น ในส่วนของอาหารและพลังงานซึ่งมีผลกระทบมาจากต่างประเทศ ขณะที่เสถียรภาพทางการคลัง โดยตัวเลขล่าสุดใน 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ อัตราเงินคงคลังอยู่ที่ 400,000 ล้าน ที่ลดลงไปบ้างแต่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้สภาพคล่องอยู่ที่ 400,000 ถึง 500,000 ล้านบาท ซึ่งมีความเพียงพอมีความมั่นคงมีเสถียรภาพเพียงพอ ยอมรับว่าลดลงบ้าง ซึ่งเกิดจากการกู้เงินเข้ามาใช้จ่าย และขณะนี้การกู้เงินในปี 2565 ยังไม่ถึง 700,000 ล้านบาท ในส่วนของโครงการผูกพันยังคงดำเนินการตามปกติ

 

อย่างไรก็ตามมีความเป็นห่วงเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งต้องดูในเรื่องของคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะมีการประชุมช่วงปลายเดือนนี้ แต่สภาพคล่องในส่วนของภาคเอกชนและระบบธนาคารพาณิชย์ จะมีสภาพคล่องอยู่ที่ 2.5 ถึง 3 ล้านล้านบาทในระบบ ลงทะเบียนว่าการพิจารณาดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยโดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ ที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุน ต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบอย่างมาก และในเรื่องการบริหารรายได้และรายจ่ายในปี 2565 รัฐบาลขาดดุล 700,000 ล้านบาท โดยใน 5เดือนแรก บวกมาเล็กน้อย แต่ต้องดูในเดือนเมษายนและพฤษภาคมซึ่งจะสร้างความมั่นใจมากขึ้นจากการจัดเก็บอัตราภาษีว่ามีรายได้เป็นไปตามเป้าหมาย 2.4 ล้านล้านบาทหรือไม่ แต่การประมาณการรายได้ปี 2565 นั้นน่าจะเป็นไปตามเป้า

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือจากสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน – รัสเซีย เพื่อลดรายจ่ายของพี่น้องประชาชนที่เกิดขึ้น โดยการลดเงินสมทบทั้งในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันทุกมาตราเป็นระยะเวลา 3 เดือน ได้แก่ ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือ ร้อยละ 1 ยกตัวอย่างหากคิดบนฐานเงินเดือน 15,000 บาท จากเดิมต้องส่งเงินสบทบ 750 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 150 บาท ทำให้สามารถลดภาระค่าครองชีพ ไปได้ประมาณ 600 บาทต่อคนต่อเดือน ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 9 เหลือร้อยละ 1.9 คือจากเดิมที่ต้องส่งเงินสมทบ 432 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 91 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 341 บาทต่อคนต่อเดือน และผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.6 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบในแต่ละทางเลือกลงร้อยละ 40 คือ ทางเลือกที่ 1 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 70 บาท ลดลงเหลือ 42 บาททางเลือกที่ 2 ลดการส่งเงินทบจากเดิม100 บาท ลดลงเหลือ 60 บาท ทางเลือกที่ 3 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 300 บาท ลดลงเหลือ 180 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 84 – 360 บาทต่อคนต่อเดือน นอกจากนี้ นายจ้างจำนวน 5 แสนราย จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือ ร้อยละ 1 ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต ยกตัวอย่างเช่น หากนายจ้างจ่ายค่าจ้างบนฐานเงินเดือน 15,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน หากนายจ้างมีลูกจ้าง 1,000 คน จะสามารถลดต้นทุน การผลิตของนายจ้างต่อเดือนลง 600,000 บาท รวมระยะเวลา 3 เดือนเป็นเงินทั้งสิ้น 1,800,000 บาท มาตรการดังกล่าวจะเกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนประมาณ 24.2 ล้านคน เป็นเม็ดเงินมูลค่าประมาณ 34,540 ล้านบาท

 

ส่วนมาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องช่วงโควิด-19 ทั้งในส่วนของนายจ้าง และลูกจ้าง เช่น โครงการ ม.33 เรารักรักกัน โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบ 29 จังหวัด การลดเงินสมทบ จำนวน 5 ครั้ง นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้มีมาตรการในการรักษาระดับการจ้างตามโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs จนทำให้ในปี 2564 ตลาดการจ้างงานพลิกกลับเป็นบวก มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 170,000 ตำแหน่งอีกทั้งรัฐบาลยังมีมาตรการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข คือ โครงการ Factory Sandbox เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ ภายใต้มาตรการทางด้านสาธารณสุข จนทำให้ในปี 64 มูลค่าภาคการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการในรอบ 11 ปี หรือประมาณ 8.7 ล้านล้านบาท และด้วยความห่วงใยจากท่านนายกรัฐมนตรี จึงได้กรุณาอนุมัติจัดสรรยอดวัคซีนในโครงการวัคซีนมาตรา 33 สำหรับพี่น้องผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะ รวมถึงกำชับให้กระทรวงแรงงานดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ป่วยโควิด-19 จนนำไปสู่การจัดตั้ง Hospitel เพื่อรองรับการรักษาแก่พี่น้องผู้ใช้แรงงาน

อ้างอิง
https://siamrath.co.th/economy