“กอบศักดิ์” ชี้เฟดถึงเวลาตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย แก้ปมเงินเฟ้อพุ่ง จับตา 4 สัญญาณหลังผลประชุมคืนนี้ ระบุปิดฉากยุคดอกเบี้ยต่ำแล้ว แนะใครจะ “ล็อกดอกเบี้ย” ต้องเร่งทำช่วงนี้
วันที่ 16 มีนาคม 2565 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Dr.KOB” ระบุว่า คืนนี้ คือเส้นตายที่เฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) ต้องตัดสินใจแล้วว่า “ขนาดของยา” ที่จะจ่ายในรอบแรก จะต้องใช้ยาแรงแค่ไหน? จะเกินกว่าที่ทุกคนคาดหรือไม่?
โดยสิ่งที่เราต้องจับตามอง คือ 1.จะขึ้นเท่าไรคืนนี้ 2.ส่งสัญญาณว่า ปลายปีนี้จะไปจบอยู่ที่เท่าไร 3.ปี 2023 จะขึ้นอีกกี่เปอร์เซ็นต์ 4.จะขึ้นดอกเบี้ยไปสูงสุดเท่าไรในปี 2024 5.สุดท้ายจะเริ่มดูดสภาพคล่องกลับเมื่อไหร่ ด้วยอัตราเร็วแค่ไหน
เพราะเมื่อเทียบกับ 3 เดือนที่แล้ว สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐและโลกได้เปลี่ยนไปมาก เงินเฟ้อแรงขึ้น ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้น ปัญหา Global supply disruption ที่คาดว่าจะดีขึ้น กลับแย่ลงกะทันหัน จากการเริ่มระบาดของโควิดในจีน และยังมีปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจจะลุกลาม ส่วนในสหรัฐ ตลาดแรงงานก็ตึงมากกว่าเดิม ล่าสุด อัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.8% ในหลาย ๆ มลรัฐว่างงานต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
“ทั้งหมดนี้ ทำให้กรรมการเฟดต้องคิดหนักว่า จะทำอย่างไรกับสภาพคล่องที่อัดฉีดไปจำนวนมาก เพื่อแก้วิกฤตโควิด ตลอดจนดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำเตี้ยติดดิน แต่ปัจจุบันไม่จำเป็นแล้ว ท่ามกลางปัญหาที่รุมเร้า และสถานการณ์ที่พลิกผันไปมา”
ทั้งนี้ หลักสำคัญในการตัดสินใจ คืออะไร 1.เงินเฟ้อคือเป้าหมายสำคัญ การดูแลเงินเฟ้อคือหน้าที่หลักของเฟด เฟดไม่สามารถปล่อยให้เงินเฟ้อลอยนวลได้ เมื่อเงินเฟ้อขึ้นมาสูงสุดในรอบ 40 ปี ที่ 7.9% และกำลังฝังรากลงไปในระบบเศรษฐกิจ ในกระบวนการปรับค่าจ้าง ในการคาดการณ์เงินเฟ้อ ทำให้ปัญหาเรื่องนี้ไม่เป็นเรื่องชั่วคราว (Transitory) อีกต่อไป
“พูดง่าย ๆ ถึงเวลาที่เฟดต้องออกโรงจัดการแต่เนิ่น ๆ ถึงเวลาขึ้นดอกเบี้ย เพื่อให้เงินเฟ้อระยะยาว กลับลงมาที่ 2% ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้”
2.เมื่อตัดสินใจแล้ว กลับไปกลับมาไม่ได้ หัวใจของการเป็นเฟด คือ Credibility ในการทำนโยบาย ถ้าขึ้นดอกวัน ลงดอกวัน วันนี้ส่งสัญญาณแบบหนึ่ง วันพรุ่งนี้ไปส่งสัญญาณอีกแบบ ก็จะเสียชื่อเสียง ด้วยเหตุนี้ ก่อนทำนโยบายต้องดูให้ดีว่า ต้องจ่ายยาประมาณไหนถึงเหมาะสม
นายกอบศักดิ์ระบุว่า ไม่น่าแปลกใจ เฟดจึงรีรอมาในช่วง 3 เดือน เพื่อขอดูว่า เงินเฟ้อจะลดลงเองหรือไม่ (ไม่ลด) รอดูว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกมากหรือไม่ (ราคาน้ำมันโลกขึ้น เคยไปถึง 130 ดอลลาร์/บาร์เรล ล่าสุดได้ลงมาต่ำกว่า 100 ดอลลาร์/บาร์เรลแล้ว ทำให้มีผลกับเงินเฟ้อบ้าง แต่ยังพอจัดการได้)
อย่างไรก็ตาม สงครามที่ยูเครนยังคงดำเนินอยู่ การเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียกับสหรัฐและพันธมิตรยังไม่น่าไว้วางใจ อะไร ๆ ก็เกิดได้ ทั้งหมดหมายความต่อไปว่า คืนนี้เฟดคงต้องเลือกจ่ายยาแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้ยาเบื้องต้นไปก่อน พร้อมส่งสัญญาณว่า จะขอดูเหตุการณ์ก่อน แล้วค่อยไปปรับเพิ่มความแรงของยาทีหลัง โดยเฉพาะเมื่อสงครามที่ยูเครนจบลง โอกาสที่สหรัฐและพันธมิตรจะขัดแย้งอย่างรุนแรงกับรัสเซียได้คลี่คลายขึ้น และชัดเจนว่าปัญหาโควิดที่จีนจะลุกลามแค่ไหน ค่อยตัดสินใจอีกครั้ง
ทั้งหมดนี้ มีนัยะต่อไปยังนักลงทุนที่อยากรู้อย่างยิ่งว่า “งานเลี้ยงจะเลิกราเร็วแค่ไหน ยังมีเวลาอีกนิดหรือไม่สำหรับการเก็งกำไร”
“ในเรื่องนี้ สิ่งที่น่าสนใจ ก็คือ yield ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 2 ปี ได้ขึ้นมาอยู่ที่ 1.845% ส่วนพันธบัตร 10 ปี ได้ทะลุขึ้นไปที่ 2.14% สูงสุดในรอบ 2 ปีกว่า ๆ สูงกว่าก่อนที่ปลายปี 2019 ก่อนเกิดโควิดเรียบร้อย !!! ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ก็คือ ระดับของดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในปัจจุบัน ได้กลับไปเท่ากับช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ (Fed Funds Rate) เคยอยู่ที่ 2.25-2.5% เรียบร้อยแล้ว แล้วมาลุ้นกันครับว่า คืนนี้ผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ “ยุคดอกเบี้ยต่ำ” กำลังปิดฉากลงแล้ว ถ้าใครคิดจะล็อกดอกเบี้ย ก็ต้องทำช่วงนี้ครับ” นายกอบศักดิ์ระบุ
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance